เลขที่บัตรประชาชน :
รหัสผ่าน :
ถามเงือกน้อย
เงือกน้อย
20.45
เงือกน้อย
สวัสดีจร้าาา... วันนี้มีอะไรให้เงือกน้อยช่วยคะ ถามเงือกน้อยมาได้เลย จะรีบไปหาคำตอบให้คะ
20.45

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

 
ข่าวกิจกรรม
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล เสด็จเยือนพระตำหนักเขาน้อย (จวนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา) ทรงเสวยพระกระยาหารปักษ์ใต้ พร้อมหารือข้อราชการกับข้าราชการในพื้นที่
18 กรกฎาคม 2568

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล เสด็จเยือนพระตำหนักเขาน้อย (จวนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา) ทรงเสวยพระกระยาหารปักษ์ใต้ พร้อมหารือข้อราชการกับข้าราชการในพื้นที่

. วันที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2568 เวลา 12.30 น. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยัง ตำหนักเขาน้อย (จวนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา) อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำตำหนักเขาน้อย เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยมี นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นางปวีณ์ริศา เกิดสม หัวหน้าส่วนราชการ คณะผู้บริหาร ข้าราชการ นักเรียน นักศึกษาเฝ้ารับเสด็จ

. ตำหนักเขาน้อย สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จมาดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล มณฑลนครศรีธรรมราช (พ.ศ.2453-2458) และต่อมาดำรงตำแหน่งสมเด็จอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ (พ.ศ. 2458-2468)

. ตำหนักเขาน้อย สร้างขึ้นเมื่อปีกุน เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2454 โดยสถาปนิกชาวอิตาลี ตัวอาคารเป็นแบบยุโรป สูง 3 ชั้น สร้างแบบก่ออิฐถือปูน โครงสร้างเสา โครงหลังคาเป็นไม้ ใช้เวลาก่อสร้าง 3 เดือนจึงแล้วเสร็จ ใช้เงินส่วนพระองค์ในการก่อสร้างประมาณ 4,000 บาท สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เสด็จประทับ ณ ตำหนักเขาน้อย ตั้งแต่ พ.ศ. 2455 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ได้เสด็จกลับกรุงเทพมหานครตั้งแต่บัดนั้น โดยมิได้เสด็จกลับมาประทับ ณ ตำหนักเขาน้อยอีกเลย ในการต่อมา พระองค์ได้มอบตำหนักเขาน้อยให้เป็นสมบัติของทางราชการ ภายใต้การดูแลรักษาของจังหวัดสงขลา

. ในปี พ.ศ.2458 และ พ.ศ.2468 ใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จฯ ประพาสปักษ์ใต้ และต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2502 ใช้เป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้ง เสด็จฯเยี่ยมพสกนิกรปักษ์ใต้ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2507 จังหวัดได้ทำการบูรณะปรับปรุงใช้เป็น จวนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาจนถึงปัจจุบัน

. ปี พ.ศ. 2537 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและได้ประกาศในราชกิจจานุ เบกษาเล่มที่ 111 ตอนที่ 20 ง วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2537 เนื้อที่ 12 ไร่ 2 งาน 99.6 ตารางวา ปี พ.ศ. 2539-2540

.โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้กราบบังคมทูลเชิญเสวยพระกระยาหารกลางวัน โดยได้จัดถวายพระกระยาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่นซึ่งเป็นเอกลักษณ์เมืองสงขลาเพื่อทรงรับเสวย พระกระยาหารว่าง ได้แก่ เต้าคั่ว ข้าวยำ และน้ำตาลโตนดโซดา พระกระยาหารหลัก ได้แก่ แกงส้มปลากะพงสามน้ำจากเกาะยอ ปลากะพงลวกจิ้มพร้อมน้ำจิ้มซีฟู้ด หอยจ๊อปู ยำมะม่วงเบาสิงหนคร ต้มส้มปลากระบอก แกงเนื้อหัวข่า และไก่ทอดหาดใหญ่ ของหวานและผลไม้ ได้แก่ ขนมเทียนสด สัมปันนี ทองเอกสงขลา และไอศกรีมถั่วเขียวโบราณ ซึ่งได้รับการคัดสรรอย่างพิถีพิถันจากครัวจังหวัด เพื่อถวายแด่พระองค์ท่าน มุ่งหวังที่จะสื่อถึงเสน่ห์เมืองสงขลา ผ่านทรัพยากรและภูมิปัญญาในพื้นที่

. ภายหลังทรงรับเสวยแล้ว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล ได้ทรงลงพระนามในสมุดเยี่ยม ความว่า “ ได้มาเยี่ยมชมพระตำหนักเขาน้อย และรับประทานอาหารกลางวันอันโอชะ ที่เป็นกับข้าวปักษ์ใต้ ขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและภริยาในความเอื้ออารี” ลงพระนาม เฉลิมศึกยุคล 18 กรกฎาคม 2568

. ก่อนเสด็จกลับ ทรงมีพระเมตตาพูดคุยทักทายกับนักเรียน นักศึกษา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา และโรงเรียนมหาวชิราวุธ ที่มารอเฝ้ารับเสด็จ และทรงมีพระปฏิสันถารกับนักเรียนอย่างใกล้ชิดเป็นกันเอง สร้างความปลื้มปีติและซาบซึ้งในพระเมตตาอย่างหาที่สุดมิได้

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา /ข่าว-ภาพ