หาดเก้าเส้ง อยู่ทางตอนใต้ของชายทะเลเมืองสงขลา เป็นหาดทรายที่ต่อเนื่องมาจากหาดชลาทัศน์ถึงโค้งอ่าวเล็กๆที่มีหมู่บ้านชาวประมงไปสุดปลายหาดที่โขดหินสูงคล้ายภูเขา สีของเม็ดทรายที่เก้าเส้งไม่ขาวมากนัก แต่ภาพรวมของหาดนี้สร้างความโดดเด่นไม่น้อยกว่าที่อื่น ทั้งจากธรรมชาติและวิถีชีวิตชาวประมงของที่นี่ ที่นอกจากยืนหยัดในอาชีพชาวประมงท้องถิ่นท่ามกลางชุมชนเมือง และยังเป็นแหล่งสร้างเรือกอและเรือประมงพื้นบ้านที่มีลวดลายสีสันสวยงาม
หาดเก้าเส้ง อยู่ทางทิศใต้ของหาดสมิหลาประมาณ 3 กิโลเมตร แม้หาดจะสวยสู้ที่อื่นไม่ได้แต่มีเสน่ห์ในพื้นที่ เช่นวิถีชีวิตของคนที่นี่ที่ยังคงรักษาความเป็นชาวประมงเอาไว้ ชายหาดมีโขดหินระเกะระกะอยู่ริมทะเล และมีก้อนหนึ่งตั้งเด่นอยู่เหนือโขดหินซึ่งชาวบ้านเรียกหินก้อนนี้ว่า”หัวนายแรง”ภูมิทัศน์ของเขาเก้าเส้ง เป็นเขาหินมีต้นไม้เล็กน้อยก็แตกต่างจากภูเขาริมทะเลอื่นๆ ของสงขลา มีพื้นที่ติดกับทะเลอ่าวไทย โดยมีก้อนหินใหญ่ที่ตั้งเด่นอยู่ที่ปลายสุดเป็นลักษณะสำคัญ ทิวทัศน์จากบริเวณหัวนายแรงนี้มองไปเห็นเกาะหนูเกาะแมวอยู่ลิบๆ
มีตำนานเล่าถึงเขาเก้าเส้ง หรือที่เรียกกันในภาษาพื้นเมืองว่า “หัวนายแรง” ว่า “ครั้งนั้นทางเมืองนครศรีธรรมราชกำหนดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์ และจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่โต บรรดา 12 หัวเมืองปักษ์ใต้ต่างก็นำเงินทองไปบรรจุในพระบรมธาตุ เมืองที่นายแรงเป็นเจ้าเมืองก็เป็นเมืองขึ้นนครศรีธรรมราชด้วย ประกอบกับนายแรงมีความศรัทธาในพุทธศาสนา จึงขนเงินทองเป็นจำนวนมากถึงเก้าแสนบรรทุกเรือสำเภา พร้อมด้วยไพร่พลออกเดินทางไปเมืองนครศรีธรรมราช ขณะกำลังเดินทางเรือสำเภาถูกคลื่นลมชำรุด จึงเข้าจอดเรือที่ชายฝั่งหาดทรายแห่งหนึ่ง เพื่อซ่อมแซมเรือ พอได้ทราบข่าวว่าทางเมืองนครศรีธรรมราชได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้ว นายแรงเสียใจมาก จึงให้ไพร่พลขนเงินทองบรรจุไว้บนยอดเขาลูกหนึ่ง สั่งให้ลูกเรือตัดหัวของตนไปวางไว้ที่ยอดเขา นายแรงกลั้นใจตาย ลูกเรือต้องจำใจตัดหัวเจ้านายไปวางไว้บนยอดเขาตามคำสั่ง เขาลูกนี้ภายหลังเรียกว่า “เขาเก้าแสน” เรียกเพี้ยนไปเป็น “เก้าเส้ง”ก้อนหินที่ปิดทับบนยอดเขาเรียกว่า“หัวนายแรง” ชาวบ้านเชื่อว่าดวงวิญญานของนายแรงยังเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์มาจนทุกวันนี้