“เสน่ห์สงขลา ภูษาศิลป์” จังหวัดสงขลาจัดแฟชั่นโชว์ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” สืบสานพระราชปณิธาน สร้างรายได้สู่ชุมชน ในงานประจำปีและงานกาชาดจังหวัดสงขลา 2568
วันที่ 22 พฤษภาคม 2568 จังหวัดสงขลา โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสงขลา ได้จัดกิจกรรมแฟชั่นโชว์ผ้าไทย “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ภายใต้แนวคิด “เสน่ห์สงขลา ภูษาศิลป์” ภายในงานประจำปีและงานกาชาดจังหวัดสงขลา ประจำปี 2568 เพื่อร่วมสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และต่อยอดภูมิปัญญาหัตถกรรมไทยอย่างยั่งยืน
โดยได้รับเกียรติจากนายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานกล่าวเปิดงานฯ พร้อม นางปวีณ์ริศา เกิดสม ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสงขลา คณะผู้บริหารระดับจังหวัด ข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงคณะกรรมการและสมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัด ร่วมเดินแฟชั่นโชว์ผ้าไทย เพื่อร่วมรณรงค์และส่งเสริมการสวมใส่ผ้าไทยในชีวิตประจำวัน ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมร่วมสมัย
กิจกรรมเดินแบบผ้าไทย มีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ความงดงามและอัตลักษณ์ของผ้าไทยพื้นถิ่นจากจังหวัดสงขลา ต่อยอดสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มทอผ้า และส่งเสริมความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีแบบลายผ้าพระราชทาน อาทิ “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”, “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา”, “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา”, “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และในปี 2568 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ได้พระราชทานลายผ้าใหม่คือ “ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์” เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานผ้าไทยให้ร่วมสมัยและเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น ภายใต้แนวคิด “ผ้าไทย ใส่ให้สนุก”
ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา ได้นำแนวนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ในการน้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาสู่การขับเคลื่อนและส่งเสริมการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย ด้วยการจูงใจให้พี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่หันมาสวมใส่ผ้าไทย ผ้าถิ่น ในทุกวันและทุกโอกาส เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผ้าไทยได้ผลิตชิ้นงานที่ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ และพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของไทยที่สืบสานมาจากบรรพบุรุษผสมผสาน กับหลักวิชาการแฟชั่นสมัยใหม่ ออกแบบชุดผ้าไทยให้มีความสวยงาม หลากหลายสไตล์ตามความต้องการของคนทุกช่วงวัย นำไปสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เกิดแรงขับเคลื่อนในชุมชน ทำให้ประชาชนในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ภายในงานมีผู้เข้าร่วมเดินแบบผ้าไทยเพื่อการกุศล จำนวนทั้งสิ้น 263 ราย จากทั้ง 16 อำเภอของจังหวัดสงขลา ประกอบด้วยบุคลากรจากภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มองค์กร และประชาชนในพื้นที่ ร่วมสร้างสีสันและแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ผ้าไทยในทุกช่วงวัยและทุกโอกาส ทั้งนี้นำรายได้สนับสนุนกิจกรรมสาธารณกุศลของเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา // ข่าว-ภาพ