จ.สงขลา บูรณาการร่วมขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วย 5 มิติ เร่งตรวจสอบครัวเรือนตกหล่นให้ได้รับการช่วยเหลือ ตั้งเป้าสร้างความยั่งยืนในคุณภาพชีวิตของประชาชน
.
วันที่ 20 มกราคม 2568 ที่ห้องประชุม CEO ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา มอบหมายให้ นายสังคม เกิดก่อ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดสงขลา ครั้งที่ 1/2568 โดยบูรณการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เติมเต็มข้อมูลครัวเรือนตกหล่น ตั้งเป้าหมายสร้างความยั่งยืนในคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ
.
นายสังคม เกิดก่อ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งขับเคลื่อนผ่านระบบ TPMAP ด้วย 5 มิติ (สุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และมิติการเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม พบว่ายังคงมีครัวเรือนตกหล่นและมีปัญหาในบางพื้นที่ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อนำข้อมูลการดำเนินงานมาประสานให้สอดคล้องกัน เพื่อกำหนดเป้าหมายการดูแลที่ครอบคลุม พร้อมทั้งเสริมสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงาน อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน
.
จังหวัดสงขลา ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ โดยใช้ฐานข้อมูลการบริหารจัดการ TPMAP ซึ่งได้จัดทำโครงการ 1 องค์กร 1 CSR 1 ครัวเรือน 1 ปี เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและเกิดการบูรณาการจากทุกภาคส่วนช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ปัจจุบันจังหวัดสงขลามีครัวเรือนเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการฯ 312 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 16 อำเภอ แบ่งออกเป็น มิติความเป็นอยู่ 148 ครัวเรือน มิติการศึกษา 18 ครัวเรือน มิติรายได้ 165 ครัวเรือน มิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ 4 ครัวเรือน ทั้งนี้จังหวัดสงขลาได้ช่วยเหลือครอบครัวยากจนไปแล้ว 112 ครัวเรือน มุ่งช่วยเหลือและดูแลอย่างต่อเนื่องจนเกิดความยั่งยืน สร้างทัศนคติและวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันในลักษณะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดูแลซึ่งกันและกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
.
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจเศรษฐกิจพอเพียง เป็นไปตามกลไกการขับเคลื่อนงานระดับจังหวัด (ศจพ.จ.) และอำเภอ (ศจพ.อ.) มี 4 แนวทางหลักดังนี้ 1) การเติมเต็มข้อมูลในระบบ TPMAP 2) ศจพ. ทุกระดับ ทีมปฏิบัติการฯ ในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาผ่านระบบ TPMAP 3) ร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนอย่างยั่งยืน 4) ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล
.
โดยกรมการพัฒนาชุมชนมีการตั้งเป้าการขับเคลื่อนขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยฯ ดังนี้ ครัวเรือนยากจน ไม่ผ่านเกณฑ์ จปฐ. ปี 2567 ข้อ 29 ด้านรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนต่อปี จำนวน 118 ครัวเรือน และครัวเรือนยากจน ไม่ผ่านเกณฑ์ จปฐ. ปี 2567 ข้อ 13 ครัวเรือนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย จำนวน 40 ครัวเรือน ส่วนจังหวัดสงขลาได้ตั้งเป้าหมายครัวเรือนเปราะบางเป้าหมายการดำเนินการ ปี 2568 โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา จำนวน 2,196 ครัวเรือน โดยเน้นการขับเคลื่อนใน มิติรายได้ เสริมจากมิติความเป็นอยู่ และมิติการเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ ขณะที่ฐานข้อมูลกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดสงขลา ตั้งเป้าหมายไว้ 905 ครัวเรือน เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายและสร้างความยั่งยืนในคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
.
นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสงขลา ได้กำหนดจัดกิจกรรมและโครงการในการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยฯ จัดสรรงบประมาณ ปี 2568 โดยร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายนำเสนอกิจกรรมและโครงการอื่น ๆ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการขจัดความยากจนฯ ในปี 2568 ดังนี้ บูรณาการข้อมูล, สำรวจเพิ่มครัวเรือนตกหล่น, จัดลำดับความสำคัญ, แจกเป้าที่อำเภอ, เสนอข้อมูลภาคเอกชน, เน้นชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม, ไม่เน้นการสร้างให้, และประยุกต์ใช้โมเดลประเทศจีน พร้อมทั้งพิจารณาการจัดทำโลโก้ประชาสัมพันธ์ “แก้จนคนสงขลา” เพื่อใช้ในการดำเนินงานประชาสัมพันธ์การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดสงขลา ปี 2568
.