กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระดมเครื่องจักรลงพื้นที่ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดสงขลา พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่เร่งสำรวจความเสียหายและเยียวยาประชาชน ตามนโยบายรัฐบาล
.
วันที่ 4 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุม Conference ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ร่วมประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (ส่วนหน้า) เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยมี นายวิทยา จันทน์เสนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมผู้บริหารระดับกรม ผู้บริหารระดับจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่
.
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีความห่วงใยความทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนที่ประสบสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ซึ่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างรุนแรงจากปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักเกินเกณฑ์ปกติตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ จึงได้มอบหมายให้ กรม ปภ. สนับสนุนให้ความช่วยเหลือจังหวัดที่ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง ทั้งในด้านวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกล โดยได้ขยายวงเงินทดรองใน 6 จังหวัด ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา นราธิวาส ปัตตานี และยะลา โดยขยายเพิ่มอีก 50 ล้านบาท จากเดิม 20 ล้านบาท รวมเป็น 70 ล้านบาท ซึ่งกรมบัญชีกลางได้อนุมัติเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ได้กำชับให้จังหวัดเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อดำเนินการเยียวยา ฟื้นฟู ประชาชนโดยเร็วที่สุด
.
ที่ผ่านมา กรม ปภ. ได้ดำเนินการทั้งในส่วนของก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัย ต่อจากนั้นจะเป็นเรื่องของการเยียวยาเมื่อภายหลังภัยสิ้นสุดแล้ว แต่ครั้งนี้จะต้องทำคู่ขนานกัน โดยได้ปฏิบัติตั้งแต่เกิดสถานการณ์ในพื้นที่ภาคเหนือ ในการเร่งสำรวจความเสียหายพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบตั้งแต่เบื้องต้น สำหรับพื้นที่ภาคใต้ได้รับผลกระทบรวม 12 จังหวัด ในห้วงตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 มีประชาชนได้รับผลกระทบ ประมาณ 660,000 ราย ในส่วนของจังหวัดสงขลามีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 200,000 ราย นอกจากนี้ขอให้จังหวัดดำเนินการวางแผนสำรวจความเสียหาย โดยมี 2 หลักเกณฑ์ คือ น้ำท่วมฉับพลัน ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย น้ำท่วมขังไม่เกิน 7 วัน และกรณีน้ำท่วมขังเกิน 7 วัน โดยทางท้องถิ่นจะดำเนินการสำรวจความเสียหาย เพื่อส่งข้อมูลไปยังอำเภอ จังหวัด และส่งต่อไปยังกรม ปภ. เพื่อดำเนินการที่เกี่ยวข้อง
.
นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เผยว่า ขณะนี้จังหวัดสงขลาได้ประกาศให้ทั้ง 16 อำเภอเป็นพื้นที่ประสบภัย พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 235,000 ครัวเรือน หรือประมาณ 600,000 คน ในการรับมือสถานการณ์ จังหวัดได้จัดตั้งศูนย์อพยพจำนวน 88 แห่ง โดยมีประชาชนอพยพกว่า 1,900 ครัวเรือน หรือประมาณ 6,000 คน นอกจากนี้จังหวัดยังได้รับการสนับสนุนเครื่องมือและยุทโธปกรณ์จากหลายหน่วยงาน ทั้ง กรม ปภ. และกระทรวงกลาโหม โดยกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพบก และกองทัพอากาศ รวมถึงมูลนิธิต่าง ๆ ได้ส่งเรือช่วยเหลือจำนวน 220 ลำ และเครื่องสูบน้ำ 107 เครื่องเข้าสนับสนุน สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัย 54 จุด ซึ่งมีจุดเปราะบาง 53 จุด ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 55 เครื่อง และเริ่มดำเนินการสูบน้ำตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2567 เพื่อป้องกันสถานการณ์น้ำท่วมล่วงหน้าในพื้นที่ที่ได้รับการประเมินว่ามีความเสี่ยงสูง
.
จังหวัดสงขลาได้ดำเนินการแก้ไขและบริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่อย่างเร่งด่วน โดยเน้นการระบายน้ำจากอำเภอสะเดาลงสู่คลองอู่ตะเภาผ่านคลอง ร.1 ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำแรงดันสูงเพิ่มอีก 4 เครื่อง จากเดิมที่มีอยู่ 5 เครื่อง รวมเป็น 10 เครื่อง ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับนโยบายของกรม ปภ. ที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วเพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ จังหวัดสงขลาได้ประกาศให้อำเภอหาดใหญ่เป็นพื้นที่แจ้งเตือนระดับสีแดง ซึ่งเป็นระดับการเตือนภัยสูงสุดในสถานการณ์น้ำท่วม เนื่องจากมีปริมาณน้ำเข้าท่วมพื้นที่จำนวนมากจนยากต่อการรับมือ อย่างไรก็ตามด้วยการเตรียมความพร้อมด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบ ทำให้สามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
ด้านการให้ความช่วยเหลือ จังหวัดได้แจกจ่ายกระสอบทรายกว่า 160,000 กระสอบ เพื่อให้ชุมชนสามารถป้องกันตนเองจากน้ำท่วม โดยการขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งได้รับการกำกับดูแลโดยนายอำเภอ ในด้านการบริหารจัดการเหตุการณ์ จังหวัดสงขลาได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จำนวน 161 แห่ง แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด ได้แก่ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ปี 2567 แลพศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้า ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ ระโนด และเทพา ส่วนระดับอำเภอ มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ ทั้งหมด 16 แห่ง รวมถึงศูนย์บัญชาการฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 141 แห่ง ทุกศูนย์ได้ประสานงานกันอย่างเป็นเอกภาพ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการสนับสนุนและความช่วยเหลือด้านอาหาร จังหวัดสงขลาได้จัดตั้งโรงครัวจำนวน 123 แห่ง รวมถึงโรงครัวพระราชทานอีก 3 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนอาหารสดจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ รวมกว่า 9 ตัน สำหรับนำไปปรุงเป็นอาหารกล่องแจกจ่ายประชาชน ขณะนี้ได้แจกจ่ายอาหารกล่องปรุงสำเร็จแล้วกว่า 380,000 กล่อง
.
โดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้รายงานแนวโน้มสถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคใต้ โดยหย่อมความกดอากาศต่ำที่เคลื่อนผ่านเข้ามาครอบคลุมภาคใต้ตอนล่าง ทำให้บริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะจังหวัด สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา อาจจะมีฝนตกหนัก ในห้วงวันที่ 13–18 ธันวาคม 2567 โดยมีโอกาสเกิดฝนหนักถึงหนักมาก ในห้วงวันที่ 14-15 ธันวาคม 2567 โอกาสนี้ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการประชาสัมพันธ์ข้อมูลการแจ้งเตือนภัย เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนถึงระดับความรุนแรงของสถานการณ์อย่างชัดเจน เพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างเหมาะสม และลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน