จังหวัดสงขลา ยังคงตรึงกำลังเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน แม้สถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลาย ด้านผู้ว่าฯ สงขลา สั่งนายอำเภอ อปท. เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อเยียวยา ฟื้นฟู ผู้ได้รับผลกระทบ
.
วันที่ 1 ธันวาคม 2567 เวลา 15.30 น. ณ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม 2567 จังหวัดสงขลา ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา มอบหมายให้ นายเศวต เพชรนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานนั่งโต๊ะแถลงข่าวสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม 2567 ในห้วงตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2567 โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ฝ่ายทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมศูนย์บัญชาการฯ ทั้ง 16 อำเภอ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล
.
โอกาสนี้ นายเศวต เพชรนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้แถลงข้อมูลศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม 2567 จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นข้อมูลที่ประมวลมาจากศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้า ทั้ง 3 ศูนย์ ได้แก่ อำเภอหาดใหญ่, อำเภอระโนด, และอำเภอเทพา รวมทั้งศูนย์บัญชาการทั้ง 16 อำเภอ และศูนย์บัญชาการฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 141 แห่ง สำหรับสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดสงขลาในปัจจุบันได้รับความเสียหายครอบคลุมทั้ง 16 อำเภอ 125 ตำบล 933 หมู่บ้าน 249 ชุมชน ประชาชนเดือดร้อน 212,727 ครัวเรือน 542,827 คน เสียชีวิต 8 ราย และสูญหาย 1 ราย โอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้กล่าวแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้
.
โดยจังหวัดสงขลา ได้มีการจัดตั้งศูนย์อพยพ จำนวนทั้งสิ้น 88 แห่ง 1,808 ครัวเรือน 5,775 คน มีการระดมทรัพยากรลงปฏิบัติในพื้นที่ แยกออกเป็น เรือ 204 ลำ เครื่องสูบน้ำ 107 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 6 เครื่อง รถหกล้อยกสูง 26 คัน รถกู้ภัย 3 คัน รถบรรทุกน้ำ 2 คัน และกระสอบทราย 134,881 กระสอบ ด้านการให้ความช่วยเหลือประชาชน ได้มีการแจกถุงยังชีพไปแล้ว 78,979 ถุง แจกจ่ายอาหารปรุงสำเร็จ 275,130 กล่อง น้ำดื่ม 410,099 ขวด ยาและเวชภัณฑ์ 23,888 ชุด นอกจากนี้ได้จัดตั้งโรงครัว จำนวนทั้งสิ้น 119 แห่ง และสนับสนุนหญ้าแห้ง 200 ก้อน
.
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 1 - 2 ธันวาคม 2567 มีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงมา ระหว่างวันที่ 3 - 4 ธันวาคม 2567 มีโอกาสเกิดฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง วันที่ 4 - 9 ธันวาคม 2567 มีโอกาสเกิดฝนลดลง และฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง บริเวณภาคใต้ตั้งแต่นครศรีธรรมราชลงมา ส่วนในช่วงวันที่ 11 ธันวาคม 2567 เป็นต้น ภาคใต้มีโอกาสเกิดฝนปานกลางถึงหนักและหนักมากบางแห่งปกคลุมบริเวณภาคใต้ตั้งแต่นครศรีธรรมราชลงมา
.
รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวต่อว่า ขณะนี้สถานการณ์ได้คลี่คลายไประดับนึง โดยยังมีพื้นที่ 5 อำเภอ 43 ตำบล 280 หมู่บ้าน 40 ชุมชน 34,827 ครัวเรือน 112,533 คน ที่ยังคงมีสถานการณ์ ได้แก่ อำเภอระโนด สทิงพระ กระแสสินธุ์ สิงหนคร และเทพา ในส่วนของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 141 แห่ง ก็ได้มีการ จัดตั้งงบประมาณสำหรับรองรับสาธารณภัย จำนวนทั้งสิ้น 265 ล้านบาท ได้ดำเนินการใช้จ่ายไปแล้ว แยกออกเป็น ค่าอุปโภคบริโภค อาทิ อาหาร น้ำดื่ม ประมาณ 51 ล้านบาท / ค่าถุงยังชีพ 15 ล้านบาท / ค่าจัดทำกระสอบทราย 1,515,000 บาท / ค่าขนย้ายอพยพประชาชน 1,500,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งศูนย์อพยพ 1,500,000 บาท
.
จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานผลปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนกรณีสถานการณ์อุทกภัย โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ทัพเรือภาคที่ 2 ได้เข้าทำการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน จำนวน 43 ตำบล ครอบคลุมทั้งหมด 4 อำเภอ พร้อมสนับสนุนการช่วยเหลือเร่งด่วนในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ และอำเภอเทพา พร้อมทั้งได้จัดตั้งโรงครัวพระราชทานเคลื่อนที่ เพื่อประกอบอาหารสำหรับแจกจ่ายผู้ประสบภัยในพื้นที่หมู่ 1 ตำบลตะเครียะ อำเภอระโนด มอบถุงยังชีพไปแล้วทั้งหมด 194 ชุด ในการปฏิบัติต่อไปยังคงดำรงภารกิจในพื้นที่รับผิดชอบและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัยจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
.
ขณะที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสงขลา ได้รายงานผลการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย โดยได้ร่วมกับด่านกักกันสัตว์สงขลา อำเภอจะนะ ทั้งเรือนจำกลางจังหวัดสงขลาได้ประสานเจ้าหน้าที่จากทัณฑสถานบำบัดพิเศษ ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมืองสงขลา สนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ร่วมเก็บซากสัตว์ปีก โดยเช้าวันนี้ (1 ธันวาคม 2567) ดำเนินการไปแล้ว 1 คอก จำนวน 9,000 ตัว สำหรับการช่วยเหลือด้านเสบียงสัตว์ โดยได้ดำเนินการช่วยเหลือเสบียงสัตว์ให้กับอำเภอหาดใหญ่ จำนวน 200 ฟ่อน และอำเภอเทพา จำนวน 200 ฟ่อน
.
“ถึงแม้สถานการณ์จะคลี่คลายลง แต่ทางผู้ปฏิบัติยังคงตรึงกำลังทั้งหมดไว้ในพื้นที่ ทั้งเตรียมเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ และสับเปลี่ยนกำลังพลปฏิบัติงานกันอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้สั่งการไปยังทุกอำเภอ ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อที่จะนำเข้าสู่กระบวนการเยียวยาในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป” รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวทิ้งท้าย