จ.สงขลา พิจารณาจัดทำร่างสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดในพื้นที่เป้าหมายสำหรับการฝึกการแก้ไขปัญหาที่บังคับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัด (CPX)
.
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 น. นายเศวต เพชรนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมการฝึกการแก้ไขปัญหาที่บังคับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระดับจังหวัด (CPX) พร้อมพิจารณาจัดทำร่างสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดในพื้นที่เป้าหมายสำหรับการฝึกการแก้ไขปัญหาที่บังคับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัด (CPX) โดยมี นางสาวสุนารี บุญชุบ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และศูนย์จิตอาสาพระราชทานทั้ง 16 อำเภอของจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย สาธารณสุขอำเภอ ตำรวจ มณฑลทหารบกที่ 42 ทัพเรือภาคที่ 2 และชุดปฏิบัติการประจำตำบล เทศบาล อบต. เข้าร่วม ณ ห้องประชุมเฟื่องฟ้า ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสงขลา และผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล
.
สำหรับการฝึกการแก้ไขปัญหาที่บังคับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระดับจังหวัด (CPX) สืบเนื่องจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ได้มีนโยบายให้ทุกพื้นที่ได้เตรียมการรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติ ให้เกิดความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดกับประชาชน จึงกำหนดให้มีการจัดการฝึกการแก้ไขปัญหาที่บังคับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัดแบบบูรณาการ (CPX) ซึ่งเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมาได้ดำเนินการเชิญผู้แทนสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ และผู้แทน ศบภ.มทบ.41-46 รวมถึงผู้แทนของกองทัพเรือและกองทัพอากาศ เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำสถานการณ์และแนวความคิดในการปฏิบัติแบบบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน รวมถึงผู้แทนทุกหน่วยได้ดำเนินการร่วมกันจัดทำกำหนดการฝึกของแต่ละหน่วยฝึกตามที่สามารถปฏิบัติได้ โดยแบ่งเป็นการฝึกสัปดาห์ละ 1 หน่วย
.
จอส.พระราชทาน ภาค 4 จึงกำหนดการฝึกการแก้ไขปัญหาที่บังคับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระดับจังหวัด (CPX) ของจังหวัดสงขลา ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567
.
ทั้งนี้ จังหวัดสงขลา โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา ร่วมกับ มณฑลทหารบกที่ 42 สำนักงานเลขานุการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานจังหวัดสงขลา กำหนดพื้นที่เป้าหมายสำหรับการฝึกการแก้ไขปัญหาที่บังคับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัด (CPX) ในครั้งนี้ ได้แก่ พื้นที่ตั้งศูนย์พักพิงร่วมใจอุ่นใจอุ่นไอรัก ตำบลท่าบอน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
.
รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ฝ่ายเลขานุการ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการยกร่างสถานการณ์ภัยพิบัติขึ้น เพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณาร่วมกัน ซึ่งในปีนี้ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยของเราค่อนข้างมีความรุนแรง อย่างที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศไทยเรา ในส่วนของภาคใต้ฝนค่อนข้างจะตกชุก จึงจำเป็นต้องคาดการณ์ข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2567 ตลอดระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา ปริมาณฝนเฉลี่ยค่อนข้างต่ำกว่าเกณฑ์ จึงมีความห่วงใยว่าปริมาณน้ำฝนในปลายปีจะมีฝนตกหนัก ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน จึงมีนโยบายให้แต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดได้เตรียมการในเรื่องของการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยต่าง ๆ ให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สามารถรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
.
โดยที่ประชุมได้พิจารณาจัดทำร่างสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดในพื้นที่เป้าหมายสำหรับการฝึกการแก้ไขปัญหาที่บังคับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัด (CPX) โดยใช้กลไกจิตอาสาขับเคลื่อนการปฏิบัติ ซึ่งมีการจัดเตรียมสถานการณ์ และบ่งการในการฝึก รวมถึงแนวความคิดในการปฏิบัติการบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่รับผิดชอบ ตั้งแต่ขั้นก่อนการเกิดภัย ขั้นระหว่างเกิดภัย และขั้นหลังเกิดภัย
.
ณิชารีย์ หนูบุญ/ข่าว
สุรยุทธ ชูสมบัติ (นิสิตฝึกงาน)/ภาพ
5 พฤศจิกายน 2567
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา