เรือพระจากวัดต่างๆ ในจังหวัดสงขลา เคลื่อนขบวนอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ในงานประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว ประจำปี 2565
วันนี้ (11 ต.ค.65) ที่บริเวณหน้าสนามกีฬาติณสูลานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว ประจำปี 2565 โดยวัดต่าง ๆ จากพื้นที่อำเภอเมืองสงขลาและอำเภอใกล้เคียง เคลื่อนขบวนเรือพระร่วมในงานอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีนางดาเรศ จิตรัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยส่วนราชการ และประชาชนชาวสงขลา ร่วมชมความงดงามวิจิตรตระการตาของขบวนเรือพระอย่างเนืองแน่น โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา ได้ร่วมขบวนลากพระและแขวนข้าวต้มพวงบนเรือพระ เป็นการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของจังหวัดสงขลาให้ดำรงสืบไป
สำหรับประเพณีลากพระหรือชักพระ เป็นประเพณีสำคัญที่ถือเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของภาคใต้ที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณในเทศกาลออกพรรษา ตั้งแต่สมัยศรีวิชัยประเพณีชักพระเป็นประเพณีที่พราหมณ์ศาสนิกชนและพุทธศาสนิกชนปฏิบัติสืบต่อกันมา สันนิษฐานว่าประเพณีนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอินเดีย ที่นิยมเอาเทวรูปออกแห่ในโอกาสต่าง ๆ ต่อมาพุทธศาสนิกชนได้นำเอาคติความเชื่อดังกล่าว มาปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเชื่อทางพุทธศาสนา จนกลายเป็นประเพณีที่สืบทอดมาจนปัจจุบัน
อีกทั้ง เป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีลากพระให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของจังหวัดสงขลาและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเยาวชนและพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ได้รู้สึกหวงแหนและตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลาให้เป็นที่รู้จักทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งจะมีการประกวดเรือพระ 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทประเพณีนิยม และประเภทอนุรักษ์ท้องถิ่น ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และการประกวดขบวนแห่เรือพระ ชิงถ้วย นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในปีนี้เรือพระจากวัดต่าง ๆ จะจอดเรือพระให้ประชาชนได้ร่วมทำบุญ บริเวณถนนราชดำเนินฝั่งสำนักงานสรรพากรพื้นที่สงขลา 1 เป็นเวลา 2 คืน และจะมีพิธีสมโภชเรือพระในช่วงค่ำของวันนี้ (11 ต.ค.65)
ประเพณีลากพระของชาวภาคใต้เป็นการสมมติตามเหตุการณ์ในพุทธประวัติ เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 โดยอัญเชิญพระพุทธรูปยืนเรียกว่า "พระลาก" (พระปางอุ้มบาตร หรือปางประทานอภัย) ขึ้นประดิษฐานเหนือบุษบกที่ตั้งอยู่บนพาหนะ ซึ่งทำเป็นรูปเรือหรือพญานาคและประดับตกแต่งเสมือนอย่างปราสาทมณฑปอย่างวิจิตร แล้วแห่แหนสมมุติแทนพระพุทธองค์ด้วยการลากไปตามสถานที่ต่าง ๆ ถ้าท้องถิ่นใดอยู่ริมน้ำหรือลำคลองก็จะลากพระทางน้ำหากท้องถิ่นใดห่างไกลจากแม่น้ำ - ลำคลองก็ลากพระทางบก แล้วแต่สภาพภูมิประเทศจะเหมาะแก่การลากประเภทใดมากกว่ากัน ขบวนลากพระนี้จึงเป็นประเพณีที่ชาวภาคใต้เรียกว่า "ประเพณีลากพระหรือชักพระ" มาจนถึงปัจจุบัน
ณิชารีย์ หนูบุญ/ข่าว
ทีปรกร จันทร์ชนะ/ภาพ
11 ต.ค. 2565
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา